วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

นักเรียนมีวิธีปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการและไม่ทำให้คนอื่นเดือนร้อน

ลูกไม่ได้อย่างใจ" เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกๆ บ้าน ที่คาดหวังและวางกฎเกณฑ์ไว้ให้กับลูกมากเกินไป และมักจะมีคำถามจากบรรดาคุณพ่อคุณแม่หลายคนที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "ทำไม" เช่น ทำไมลูกถึงเป็นแบบนี้ ทำไมลูกไม่เป็นแบบนั้น ทำไมลูกไม่ทำตามที่แม่สั่ง..... จนบางครั้งคนที่มานั่งตอบคำถามเหล่านั้นก็คือตัวของพ่อแม่เองว่า ทำไมเราต้องอยากให้ลูกเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ในความเป็นจริงแล้ว การเลี้ยงลูกให้ได้อย่างใจไม่ใช่เรื่องยากเลย หากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยวางและให้อิสระกับลูก อย่าคาดหวังกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เพราะนั่นอาจหมายความว่ายังไม่ถึงเวลาที่ลูกจะมีพัฒนาการในส่วนนั้นๆ ก็เป็นได้

"พญ. วิมลรัตน์ วันเพ็ญ" รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ให้ความรู้กับเรื่องนี้ว่า ความเป็นจริงแล้ว ความหมายของคำว่า ลูกไม่ได้อย่างใจของคุณพ่อคุณแม่ หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น ลูกไม่กิน ไม่นอน ซน บอกให้ทำอะไรก็ไม่ทำ เพียงแต่สิ่งที่พ่อแม่ควรเข้าใจคือ เด็กในแต่ละวัยมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นเด็กตั้งแต่แรกเกิด-6 ปี จะทำอะไรก็ได้อย่างใจ เพราะว่าเด็กยังไม่ค่อยมีปฏิกิริยาโต้ตอบมากนัก แต่พอเริ่มหัดเดิน พ่อแม่จะเริ่มหงุดหงิด เพราะลูกจะเดินไปเดินมาบอกให้หยุดก็ไม่เชื่อฟัง อยากทำอะไรก็ทำทันที บางครั้งก็รื้อข้าวของในบ้านจนกระจัดกระจาย

ดังนั้นพ่อแม่ต้องเข้าใจว่า เด็กแต่ละวัยมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน เด็ก 2-3 ปี มีความต้องการทำอะไรด้วยตัวเอง หากพ่อแม่ไปสะกัดกั้นทุกอย่างที่เขาอยากทำ มันก็กลายเป็นการขัดขวางจินตนาการของเด็ก ส่งผลให้ลูกเป็นคนขี้อาย กลัวไปทุกอย่าง เพราะตอนเด็กจะทำอะไรพ่อแม่ก็ห้ามตลอด จึงทำให้ตอนโตเขาเป็นคนไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทำงานตามคำสั่งเนื่องจากเคยชินกับการเลี้ยงดูที่อยู่ในกรอบของคำสั่ง แตกต่างกับพ่อแม่ที่ให้ลูกได้ทดลองเล่นสิ่งต่างๆ โดยอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัย เช่น อยากตักข้าวกินเอง ก็ปล่อยให้เขาตัก เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมือไปด้วย อีกอย่างเขาจะได้รู้ว่าพ่อแม่ได้ให้โอกาสกับเขาในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ตั้งแต่เด็ก เขาจะได้สนุกกับตรงนั้นมากกว่าการทำโดยถูกบังคับหรืออกคำสั่ง

แต่พอเข้าสู่ช่วงวัยเรียน พ่อแม่หลายคนจะคิดว่าพอเข้าสู่วัยเรียนแล้ว การเรียนของลูกก็ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยไม่สนใจให้ลูกทำกิจกรรมเลย บังคับให้ลูกเรียนอย่างเดียว เพราะคิดว่าการทำกิจกรรมเป็นเรื่องที่ไร้สาระ จนทำให้ลูกขาดทักษะการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขปัญหา และการคบเพื่อนซึ่งเป็นเรื่องหนักใจของพ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในช่วงของวัยรุ่น โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง

"พ่อแม่บางคนเห็นว่า การคบเพื่อนจะต้องเลือกคบเพื่อนดีๆ เพื่อนที่ตั้งใจเรียน แต่โดยธรรมชาติของเด็กบางครั้งก็มีการออกนอกลู่นอกทางบ้าง ดังนั้นพ่อแม่ต้องกำหนดกรอบใหญ่ๆ ให้กับลูกแต่ไม่ใช่กฎเกณฑ์อย่างชัดเจน เพราะเด็กก็จะพยายามหาทางหลบหลีกจนได้ พ่อแม่ควรมีวิธีที่พูดคุยกับลูกโดยการบอกว่า ถ้าลูกเป็นผู้หญิงจะไปไหนกับเพื่อนผู้ชายสองต่อสองไม่ได้เด็ดขาด อย่างน้อยต้องมีเพื่อนผู้หญิงไปด้วย หรือสถานที่ไหนไม่ควรไปหรือไปได้แต่ต้องไปกับผู้ใหญ่ มีการกำหนดกรอบของความเหมาะสมเอาไว้ ถ้าลูกหลุดออกไปนอกกรอบก็ควรมีการลงโทษ ในความหมายนี้ไม่ใช่การตี แต่เป็นเงื่อนไขที่สามารถต่อรองกันได้ เช่น เมื่อลูกไปเที่ยวกลับมาไม่ตรงเวลา ครั้งต่อไปอาจจะไม่ได้ไปเที่ยวอีก และในพื้นฐานของกรอบจะต้องมีความยุติธรรม ถ้าเป็นข้อกำหนดที่แม่ตั้งขึ้นและลูกก็ปฏิบัติตามแล้ว แต่ไม่ได้ผลตามคาดหวังเอาไว้ แม่ก็ไม่ควรต่อว่าลูกว่าทำไมถึงทำไม่ได้" รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ฯ อธิบายทักษะการวางกรอบให้กับลูก



นอกจากนั้น บางครั้งระเบียบกฎเกณฑ์ที่จะใช้กับลูกอาจทดลองใช้กับคุณพ่อก่อนก็ได้ว่า จะมีผลตอบกลับมาในทิศทางไหน ถึงแม้มันจะเป็นคนละวัยก็ตามจะได้เตรียมรับมือ หรือตอบคำถามที่ลูกจะถามย้อนกลับมา อีกประการหนึ่ง พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกด้วย ถ้าพ่อแม่เป็นคนใจร้อน ขี้หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย แต่ต้องการให้ลูกเป็นคนมีเหตุผล มันก็คงจะไม่ยุติธรรมสำหรับลูกมากนัก บางเรื่องเด็กก็เข้าใจ เพียงแต่เขาไม่สามารถทำได้

อย่างไรก็ดี คุณหมอแนะนำว่า ทุกครั้งที่จะสอนลูกอย่าใช้คำด่า อย่าเหยียดหยาม อย่าประนาม อย่าเปรียบเทียบ แต่ให้พูดอย่างตรงไปตรงมาว่าลูกมีความต้องการอะไร ยกตัวอย่างเรื่องความปลอดภัยของลูกและอยากให้ลูกกลับบ้านตรงเวลา แม่ต้องอธิบายเหตุผลว่า สังคมมันมีอันตรายอยู่มากมาย แม่เป็นห่วงลูก อยากให้ลูกกลับบ้านเร็ว ๆ การพูดเพียงเท่านี้ เด็กก็จะสามารถเข้าใจได้เอง ตรงข้ามถ้าพูดในเชิงของการดุด่า เช่น โตแล้วไม่รู้จักคิด กลับดึกๆ ดื่นๆ พ่อแม่เป็นห่วงรู้ไหม คำพูดนี้จะทำร้ายความรู้สึกของลูก ฉะนั้นพ่อแม่ต้องพยายามพูดในเชิงบวกและต้องรู้จักบอกความต้องการของพ่อแม่ไปตรงๆ

"ถึงตอนนี้ การเลี้ยงเด็กที่เลี้ยงง่ายก็ยังต้องอาศัยความอดทนของพ่อแม่อยู่ และพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กเลี้ยงยากก็ยิ่งต้องเพิ่มความอดทนให้เข้มข้นขึ้น อย่าใช้อารมณ์กับลูก เพราะความใจร้อนมันจะยิ่งไปเพิ่มดีกรีความเป็นเด็กเลี้ยงยากขึ้นอีก แต่ถ้าพ่อแม่ใจเย็นกับเด็กที่ขี้หงุดหงิด เด็กจะซึมซับเอาความใจเย็นของพ่อแม่ไปอย่างไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับเด็กที่ขี้อาย พ่อแม่ก็ต้องอดทนกับความขี้อาย ความไม่กล้าของลูก และพยายามผลักดันให้ลูกมีความกล้า อย่าพูดว่า เมื่อไรจะทำได้สักที ควรช่วยประคับประคองเขาก่อน อย่างการไปซื้อของฝึกให้เขามีความกล้า จูงมือลูกไปแต่ให้เขาไปซื้อเอง โดยที่พ่อแม่ยืนดูอยู่ห่าง พอลูกทำได้ก็ควรชื่นชมในความสามารถของลูกด้วย และอย่ารำคาญกับคำถามของลูก ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะตอบไม่ได้ก็ชวนลูกมาหาคำตอบด้วยกัน เพราะเมื่อใดที่เราเปิดโอกาสให้กับเขา เราจะเห็นว่าลูกก็เป็นอย่างใจเราต้องการได้" พญ.วิมลรัตน์ ฝากทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น